จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บริหารจัดการน้ำ : คือการใช้ประโยชน์จากน้ำ


ไม่กี่วันมานี้ผมเอ่ยปากกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการตำบลสายนาวัง ว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แท้แล้วก็คือการหาวิธีใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเพียงพอและยั่งยืนนั่นเอง
ผมไปถึงที่นั่นกับคุณนคร นาจรูญ ในฐานะคณะทำงาน CCAI[1] ในประเทศไทย ย่ำค่ำของคืนขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนสิบสองทางจันทรคติ เพื่อเยี่ยมเยียนคุณบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ พบปะกับคณะกรรมการน้ำตำบลชุดแรกและน่าจะเป็นแห่งแรกของตำบลในประเทศไทย เพื่อตระเตรียมการประชุมถอดถอนบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีโดยองค์กรลุ่มน้ำ ที่เรากำลังทำงานร่วมกับ IUCN[2]

บรรยากาศการสนทนาแบบไม่เป็นทางการแต่ลึกล้ำด้วยเนื้อหาสาระที่ไม่ต้องตระเตรียมและเรียบเรียงล่วงหน้า
ผมเอ่ยถ้อยคำข้างต้นในห้องประชุม อบต.สายนาวัง ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเราปรึกษาหารือกันค่อนข้างเป็นทางการ แต่ใจผมหวนคำนึงไปถึงกิจกรรมการส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเคมี ที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ที่มีนายไกรสร กองฉลาด เป็นนายอำเภอ (จะย้ายไปดำรงตำแหน่ง นภอ.กระนวน แทนนายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ในเร็ววันนี้)
ทำไมหรือครับ?
เพราะที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เขามีกิจกรรมส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเคมี ส่งขายในตลาดเมืองขอนแก่น เช่นซุบเปอร์มาร์เก็ตในห้างเซ็นทรัล คอมเพล็กซ์เซ็นเตอร์ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
ผมถือว่านี่คือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจริง คือรู้จักใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในวิถีการดำรงชีวิต ร่วมกับทรัพยากรอื่นๆ อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน
ชาญฉลาดคือ ฉลาดใช้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำมาก น้ำน้อย หรือน้ำเน่าเสีย ล้วนมีปัญญาที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำเหล่านั้น ในสถานการณ์นั้นๆ
ยั่งยืน คือใช้ได้อย่างยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในระบบลุ่มน้ำ โดยเฉพาะคือทรัพยากรคนและสิ่งแวดล้อม
เรามีทรัพยากรดิน น้ำ คน ฯลฯ ในเชิงพื้นที่หนึ่งๆ ทำอย่างไรจะทำให้ทรัพยากรเหล่านี้เกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน นี่น่าจะเป็นโจทย์สำหรับนักปกครอง และนักบริหารจัดการรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายอำเภออย่างนายไกรสร กองฉลาด หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล อย่างนายบำรุง คะโยธา
รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยิ่งต้องมีความสามารถเชิงนี้ด้วย





[1] คณะทำงานกิจกรรมความริเริ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวในลุ่มน้ำโขง ภายใต้ Climate Change  and Adaptation Initiative: CCAI
[2] IUCN, International Union for Conservation of Nature and Natural Resources

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น