จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันพ่อ ๒๕๕๔


วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปลูกท้อ


๑ หลวงตาให้ “กล้าท้อ” สิบสองต้น
ปลูกลงบน “บ้านดิน-ตีนภู” มั่น
ปริศนา – ธรรมฤๅ เป็นสำคัญ
ให้ “ปลูกท้อ” ในวัน บวชต้นไม้
๒ ปลูกต้นท้อ เตือนว่า “อย่าท้อแท้”
ถ้าท้อแน่ อย่าถอย เป็นใช้ได้
“ท้อ” จักเตือนตัวตนลึกลงไป
ยังหัวใจจำหลักจักมั่นคง
๓ ปลูกต้นไม้ไว้ดินต้องรินน้ำ
รดให้ฉ่ำชุ่มพอเหมาะประสงค์
แม้นแดดอาบฉาบฉายประกายตรง
อย่าพะวงดอกใบต้นไม้เลย
๔ มีหน้าที่ปรุงแสงเป็นอาหาร
ดอกใบบานผลิผลออกเปิดเผย
แดด ดิน น้ำ สำคัญหมั่นชดเชย
ธรรมชาติช่วยเฉลยปัญหาธรรม
๕ สิบสองกล้าท้าธรรมชาติชัด
ถึงพิบัติเพียงหนึ่งในฉนำ
ที่เหี่ยวเฉาแห้งตายเป็นพลีกรรม
คืนสู่ดินตอกย้ำวิถีตน
๖ ยังเหลือท้อกว่าสิบยังยงกล้า
ยังยืนท้าธำรงคงแดดฝน
ไว้เตือนตัวคงค่าความเป็นคน
แม้นทุกข์จนอย่าระย่อท้อถอยเทียว
๗ ขอขอบคุณหลวงตาให้กล้าท้อ
เป็นทุนก่อเจริญสติจงชาญเชี่ยว
ที่แท้ท้อต้องบ่ถอยแม้ก้าวเดียว
จึงเก็บเกี่ยวผลหมากหากจงใจฯ
เขียนในวันรดน้ำต้นท้อหลังแดดเปรี้ยง
บ้านดินตีนภู ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บริหารจัดการน้ำ : คือการใช้ประโยชน์จากน้ำ


ไม่กี่วันมานี้ผมเอ่ยปากกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการตำบลสายนาวัง ว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แท้แล้วก็คือการหาวิธีใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเพียงพอและยั่งยืนนั่นเอง
ผมไปถึงที่นั่นกับคุณนคร นาจรูญ ในฐานะคณะทำงาน CCAI[1] ในประเทศไทย ย่ำค่ำของคืนขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนสิบสองทางจันทรคติ เพื่อเยี่ยมเยียนคุณบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ พบปะกับคณะกรรมการน้ำตำบลชุดแรกและน่าจะเป็นแห่งแรกของตำบลในประเทศไทย เพื่อตระเตรียมการประชุมถอดถอนบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีโดยองค์กรลุ่มน้ำ ที่เรากำลังทำงานร่วมกับ IUCN[2]

บรรยากาศการสนทนาแบบไม่เป็นทางการแต่ลึกล้ำด้วยเนื้อหาสาระที่ไม่ต้องตระเตรียมและเรียบเรียงล่วงหน้า
ผมเอ่ยถ้อยคำข้างต้นในห้องประชุม อบต.สายนาวัง ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเราปรึกษาหารือกันค่อนข้างเป็นทางการ แต่ใจผมหวนคำนึงไปถึงกิจกรรมการส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเคมี ที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ที่มีนายไกรสร กองฉลาด เป็นนายอำเภอ (จะย้ายไปดำรงตำแหน่ง นภอ.กระนวน แทนนายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ในเร็ววันนี้)
ทำไมหรือครับ?
เพราะที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เขามีกิจกรรมส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเคมี ส่งขายในตลาดเมืองขอนแก่น เช่นซุบเปอร์มาร์เก็ตในห้างเซ็นทรัล คอมเพล็กซ์เซ็นเตอร์ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
ผมถือว่านี่คือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจริง คือรู้จักใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในวิถีการดำรงชีวิต ร่วมกับทรัพยากรอื่นๆ อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน
ชาญฉลาดคือ ฉลาดใช้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำมาก น้ำน้อย หรือน้ำเน่าเสีย ล้วนมีปัญญาที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำเหล่านั้น ในสถานการณ์นั้นๆ
ยั่งยืน คือใช้ได้อย่างยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในระบบลุ่มน้ำ โดยเฉพาะคือทรัพยากรคนและสิ่งแวดล้อม
เรามีทรัพยากรดิน น้ำ คน ฯลฯ ในเชิงพื้นที่หนึ่งๆ ทำอย่างไรจะทำให้ทรัพยากรเหล่านี้เกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน นี่น่าจะเป็นโจทย์สำหรับนักปกครอง และนักบริหารจัดการรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายอำเภออย่างนายไกรสร กองฉลาด หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล อย่างนายบำรุง คะโยธา
รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยิ่งต้องมีความสามารถเชิงนี้ด้วย





[1] คณะทำงานกิจกรรมความริเริ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวในลุ่มน้ำโขง ภายใต้ Climate Change  and Adaptation Initiative: CCAI
[2] IUCN, International Union for Conservation of Nature and Natural Resources

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อย่าหูหนาปัญญาหนวก




๑ หูหนาปัญญาหนวกบวกตาบอด
จึงวายวอดเป็นว่าเล่นเห็นไหมนั่น
เอาอีกแล้ว ล้าน-ล้าน สราญครัน
อะไรกันจะจัญไรได้ปานนี้?
๒ ที่ละลายหายวับไปกับน้ำ
คงระยำช้ำชอกอีกป่นปี้
อ้างฟื้นฟูบูรณะกะคืนดี
แท้กู้หนี้อีกอ่วมจนท่วมตัว
ขอบคุณภาพ : นาย ช่างภาพ (เฟสบุ๊ค)


๓ กู้อะไรฤๅจักสู้ต้องกู้หน้า
ละเลงบ้าละลายบาปสาบส่งชั่ว
โยนให้แพะรับไปไม่พันพัว
พ้นเกลือกกลั้วกู้ชื่อระบือทราม
๔ อนิจจาประชาชาติอนาถนัก
ฤๅจมปรักติดหล่มบ่เลยข้าม
ทนเทวษร่ำไปทุกผู้นาม
สุดโยงยามยืดเยื้อและยาวนาน
๕ วอนเทวาอารักษ์จงดลช่วย
ขอไทยทวยแจ้งประจักษ์จงทุกย่าน
รู้จำแนกชั่วดีดังเชี่ยวชาญ
ถูกหรือผิดสามานย์ฤๅสามัญ
๖ อย่าหูหนาปัญญาหนวกบวกตาบอด
จึงจะรอดแคล้วคลาดที่หวาดหวั่น
จึงจะพ้นผองภัยที่ฝ่าฟัน
จึ่งมีวันเงยหน้าอ้าปากบาน
๗ จึงกอบกู้บูรณะและสะสาง
จึงถูกทิศถูกทางที่เทียวผ่าน
จึงรู้ทันรู้เท่าพวกสามานย์
จึงรู้การจำเริญก้าวไปไกลเอยฯ

ซับแดง ๑๑ – ๑๑ – ๑๑

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

มีปีกก็หล่นไม่ไกลต้น

          เริ่มจากผมโพสต์ภาพ "หมากกุง" ลงหน้า facebook ราวต้นเดือนกันยายนนี้ (๒๕๕๔) เป็นภาพชุดที่คุณส้ม (ขออภัยจำชื่อจริงไม่ได้-จะเข้ามาแก้ไขภายหน้า) หนึ่งในสมาชิกจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือไม่ก็คุณดอส "อานันท์ ปั้นเก่า" มือกล้องมือดีของ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) คนหนึ่ง บันทึกไว้เมื่อคราวเปิดค่าย "สานศิลป์-ปั้นดินดิบ" ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔

          แล้วก็มีผู้คนในแวดวงสังคมไอทีแสดงความคิดเห็น (Comment) อย่างกว้างขวาง ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ
          ผู้ใช้นามว่า "ผาแดง สกลทวาปี" บอกว่า "หมากยาง" ผมจึงให้ข้อมูลภาพไปว่า "หมากยางนา หมากสะแบง จะลูกเรียวเล็กและปีกยาวกว่า "หมากกุง" หรือ "ลูกพลวง" ไม้วงศ์ยางนาชนิดหนึ่ง"
          ร. จิระโชติ เจ้าของนามปากกา “นกแสงตะวัน” บอกว่า “ชอบดอกยางค่ะ ปลิดตัวเองระเริงระบำไปกับสายลมเพื่อขยายเผ่าดำรงพันธุ์..แต่มักไปได้ไม่ไกล อาศัยมือน้อยๆของเด็กหยิบไปร้อยระบายหน้าต่าง ช่างงดงาม”

          นปุง สกลิงค์ เม้นท์ว่า “สวยจัง ขออนุญาตนำภาพนี้ไปเผยแพร่ต่อนะคะ”
          ผมตอบว่า “ได้ครับ ความจริงผมไม่ใช่คนถ่ายดอกครับ ได้เขียนบรรยายไว้ก่อนจะอัพโหลดภาพ แต่ไม่รู้มันหายไปไหน” และว่า “เห็นหมากผลของไม้พวกนี้แล้วผมว่าคิดว่าธรรมชาติคงอยากให้มันไปแพร่หลายขยายพันธุ์ได้ไกลๆ ต้นแม่ไม้ จึงใส่ปีกให้บินได้ แต่ถึงอย่างไรมันก็บินไม่ไปไกลต้นแม่สักเท่าไหร่ดอก ปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นปรัชญาเตือนคนว่าอย่าลืมกำพืดตัวเอง อย่าทิ้งรากเหง้าไปนิยมวัฒนธรรมผู้อื่นจนลืมและทิ้งวัฒนธรรมของตน”
          ส่วนละอ่อน ขอนแก่น บอกว่าชอบมากๆๆๆ
          ธนุส ธนะวิโรจน์ "อยากกลับไปร่วมพัฒนาอีสานบ้านเฮาจังเลยครับ"
          ส่วน Malinee Soidokmai แซวว่า “มีแต่ลูกยางเหลอ น้ำยางไม่มีบ้างเหลอป๋า”
แสดงว่าคำว่า “ยาง” นี่คงเข้าใจไม่เหมือนกัน ขณะที่หลายคนพูดถึงยางนา บางคนนึกถึงยางพารา


ภาพป่าพลวงยามรุ่งเช้าที่ค่ายบ้านดินตีนภู “ฐานที่มั่นคนกับควาย”


          ภาพนี้ คนโพสต์คือละอ่อน ขอนแก่น  ใช้ชื่อภาพว่า “ยางนายางกราดสะแบงพลวง”
          ผมจึงขยายความว่า “ยางนา ยางกราด สะแบง พลวง มันคนละต้น”
          ละอ่อน ขอนแก่น “จ้า”
          Tamonwan Pinta ชักมีข้อสงสัย “เอ...แล้วอันนี้เค้าเรียกว่าอะไรหละค่ะ คล้ายๆ เคยเห็นตามป่าแถวๆ บ้าน ถ้ามันร่วงลงมา ชอบเก็บเอาไปเล่น ไม่เคยเห็นบนต้นว่า มันเป็นสีแดง อม แสด ส้ม อย่างนี้ คล้ายกังหันลม ถ้าเอาโยนให้มันตกลงมา” และว่า “แต่เราว่าใบมันคล้ายๆ ใบตองตึงนะ สมัยเราเล็กๆ แม่ค้าขนมจีนเค้าใช้ห่อขนมจีนขายเป็นกิโล..”
          ละอ่อน ขอนแก่น “รอคุนลุงสมคิดมาตอบดีกว่านะคะ”
          สงสัยมาก คำว่า “คุณลุง” ของละอ่อน ขอนแก่น เขียนว่า “คุนลุง” ทุกครั้ง
          Tamonwan Pinta “ค่า”
          Somkhit Singsong “เคยตอบมาหนหนึ่ง น่าจะอยู่อีกอัลบั้ม ว่าใบตองตึงเป็นภาษาเหนือ อีสานเรียกใบตองกุง ไทกรุงเทพฯ ว่าใบพลวง เขาใช้ห่อข้าวของ ถูกต้องแล้ว เพราะใบพลวงไม่มีขน แต่ใบยางนา ใบสะแบง มีขนและใบเล็กกว่า..” ผมว่าเคยตอบในอัลบั้ม “มีปีกก็หล่นไม่ไกล”
          ละอ่อน ขอนแก่น ขอบคุนมากๆๆคะ
          นพดล โคตรชมภู “ทางนี้เรียกต้นซาดครับ”
          Tamonwan Pinta “ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ ได้ความรู้มากจัง หน้าจะรื้อฟื้นเอามาใช้กันอีกนะค่ะ ดีกว่าพพลาสติก ตั้งมาก”
แม่ ต๊อก “ไทโคราช..ก็เรียก ใบพลวง ค่ะ เด็ก ๆ เคยเห็นแม่ใหญ่ใช้ห่อข้าวให้ พ่อใหญ่ไปนา.”
          Kathi Mong-mong “ทุ่งนาที่บ้านเคยมีแต่ตัดแล้ว ไม่แน่ใจว่าต้นเล็กๆ เป็นต้นกราดหรือป่าว(บ้านเรียกต้นกราด)แบบว่าไม่ได้ไปนานแล้ว...”

ต้นยางนาขนาดวัยรุ่น จากอัลบั้มของละอ่อน ขอนแก่น

          เห็นไหมครับว่ามีความเห็นที่หลากหลายมาก โดยที่เริ่มจากภาพ “ลูกพลวง” จากฐานที่มั่นคนกับควาย แต่ละความคิดเห็นล้วนมาจากประสบการณ์ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และเป็นที่มาของวงสนทนาออนไลน์ของกลุ่ม “รักคนอ่าน-บ้านนักเขียน) ที่ face book เมื่อเช้านี้
          ละอ่อน ขอนแก่น “เสียดายเรื่องหมากไม้มันจะสูญหาย เด็กรุ่นใหม่ เค้าไม่เล่น ลูกยาง แล้ว เด็กในเมือง ไม่มีใครรู้จัก”
            สมคิด สิงสง “เอางี้ไหม ใครเจอหมากไรดอกไร เก็บสะสมไว้ แล้วนัดเอามาโฮมกัน ทำแหล่งเรียนรู้เรื่องนี้”
          บักวี สีวิดทะยาสาด “หมากแตก อย่าเอาเด้อ”
          สมคิด สิงสง “กะเป็นหมากไม้บ่ล่ะ ถ้าเป็นหมากไม้กะเอา.. หือสิเฮ็ดเป็นหนังสือหือ”
          ละอ่อน ขอนแก่น “หนูมีแต่ภาพแหล่วเนาะ ที่นาฯเหลืออยู่แค่สองต้น ไม่รู้จะโดนลักลอบตัดเอาไม้ไปวันไหนเลยคะ”
          สมคิด สิงสง “เป็นหนังสือภาพคือสิงาม”
          ละอ่อน ขอนแก่น “ถ้าอยากได้ภาพแบบใหญ่ๆ เยอะๆ ต้องภูพานคะคุนลุง ที่อ้ายเด่นชัย เคยเอามาลงน่ะคะ”
          สมคิด สิงสง “เรื่องเฮ็ดคือสิบ่ยาก อาจสิยากนำทุนพิมพ์”
          ละอ่อน ขอนแก่น “อิอิ”
          สมคิด สิงสง “เอ้อแม่น เด่นชัยเขามีกล้องดี แล้วก็หมั่นถ่ายฮูป”
          ละอ่อน ขอนแก่น “ต้นใหญ่ อายุสามร้อยปีคะ”
          สมคิด สิงสง “ต้นนั้นมันล้มแล้ว ภาพเด่นชัยถ่ายให้ นำลุงกะมี”

(ภาพต้นยางอายุ ๓๐๐ ปี ผมนำมาเป็นฉากหลังแบนเนอร์ชื้นหนึ่ง)

          ละอ่อน ขอนแก่น “คะ แต่เค้าเก็บรักษาไว้ ทำบ้านให้มันด้วย ไว้ดู เปนตาสะออนนำเด้”
          สมคิด สิงสง “เอ้อ คึดออกแล้ว ไผกะได้ ไปชวน รมต.ศึกษาฯ มาเข้ากลุ่มเฮานำแหน่เป็นหยัง สิได้ให้เขาออกเงินพิมพ์หนังสือหมู่นี่แจกโรงเรียน”
          ละอ่อน ขอนแก่น “บ่แมนสิได้ตีกันกับครูฟอน ก่อนซะบ้อ หนูว่า”
          สมคิด สิงสง “ให้ครูฟอนนั่นล่ะไปชวนมา" หมายถึงชวนเข้ากลุ่ม "รักคนอ่าน-บ้านนักเขียน"
          ละอ่อน ขอนแก่น “555” คือสิแม่นเสียงหัว
          สมคิด สิงสง “อยู่บ้านเฮากะมีบ่แม่นบ่ (รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ น่ะ) ให้ครูฟอนไปขู่ ถ้าบ่มาสิเอาควายมาเป็น รมต.แทน”
          ละอ่อน ขอนแก่น “5555” หัวอีก
          สมคิด สิงสง “ย้อนว่าควายได้เข้าโรงเรียนแล้ว เอาเนาะครูฟอนเนาะ” ตามนิยายของครูวีระ สุดสังข์ เรื่อง “โรงเรียนสอนควาย”
          ละอ่อน ขอนแก่น “เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต่อไปน้องปลายฝนก็จะไม่รู้จักพวกต้นไม้พวกนี้หรอก 555”

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ที่มั่นที่หมายปลายทางชีวิต

ไม่นึกว่าวันนี้จะต้องหันกลับไปมองวัยวันที่ผ่านมา แต่เมื่อจะลุกจะนั่งทีเริ่มมีถ้อยคำโอดโอย เจ็บโน่นปวดนี่พอให้รำคาญ ไม่กระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไวเหมือนสมัยที่ยังหนุ่มแน่นแต่ก่อนกี้
"อนิจจา วัฏฏะสังขารา.." ช่างเป็นสัจธรรมเสียนี่กระไร
พูดใหม่ก็คือใหม่
หลังโรงเรียนเลิก สลัดชุดสีกากีคร่ำคร่าเข้าข้างฝาเรือน เปลี่ยนเป็นกางเกงผ้าฝ้ายหัวรูดย้อมหม้อนิลด่างดำ ได้ปั้นข้าวเหนียวเหน็บปลาแดกเครื่องแล้วเผ่นแผล็วลงเรือน มุ่งหน้าไปลัดต้อนฝูงควายมาเข้าคอก
ปิดเทอมใหญ่ปลายปีนั้น เป็นปีที่จบชั้น ป.๔ ยายบอกจะให้น้าขึ้นมารับไปเรียนต่อกรุงเทพฯ หัวใจเด็กน้อยบ้านป่าพองโตจนคับอก ค่ำคืนที่มืดมิดกลับนอนฝันเห็นเมืองล่างที่สว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้า
โอ.. มันเป็นภาพอดีตอันงดงามและเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน
เมืองล่างในจินตนาการคือบ้านเมืองที่สว่างไสวไปด้วยแสงสี เหมือนที่เคยเห็นบนเวทีหมอลำในยุคสมัยที่เริ่มมีเครื่องปั่นไฟ มีหลอดหมากตูมกาห้อยต่องแต่งบนเสาไม้ไผ่ และมีไมโครโฟนห่อด้วยผ้าใยบัวสีเขียวแดงหย่อนลงมาจากราวไม้ไผ่ เสียงหมอลำที่ดังผ่านลำโพงไฮไฟดอกมะเขือบ้า ซึ่งมัดติดปลายไม้ต้นมะม่วงกะสอหน้าศาลาการเปรียญ ชำแรกแทรกตัวไปในความเงียบสงัดของรัติกาลอันมืดดำ สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วทิวป่าและนาข้าวเขียวขจี
"ได้ยิน ลมพานต้องใบไผ่ โวกวีโว
ลมพานต้องใบโพ โวกวีเวก
โจ้กเจ้กน้ำล้นต้อน ใจน้องฮ่ำคะนิงฯ"
บทกลอนลำล่องที่คุ้นหูแห่งยุคสมัยยังแว่วยินอยู่ในมโนสำนึกตราบถึงวันนี้ แม้นว่าวันเวลาเช่นนั้นจะล่วงผ่านมากว่ากึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
เมืองล่างในจินตนาการช่างเต็มไปด้วยความรื่นรมย์เสียนี่กระไร ช่างสวยงามตระการตาราวสวรรค์ชั้นฟ้า และเสนาะโสตในสำเนียงแซร่ซ้องเสพงันทั้งวันและคืน
ทว่า เมื่อได้ไปสัมผัสด้วยชีวิตจริงกลับแตกต่างไปจากที่เคยคิดฝันเอาไว้เป็นขาวกับดำ ชีวิตเด็กนักเรียนจากบ้านนอกขอกคาเมที่มีโอกาสไปร่วมชั้นเรียนกับเพื่อนใหม่ในเมืองหลวงกลับถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนจนเหลือจะทานทน

ภชงคปยาตฉันท์ ๑๒
๕๒๕ นิราศถิ่นนิคมเถื่อน       ลุปีเดือนนครใหญ่
สถิตที่สถานใด                    สินึกเห็นบ่เว้นวาย
๕๒๖ มิใยเพียรสิเขียนอ่าน     คะนึงบ้านผิเช้าบ่าย
นิทราหลับขยับกาย              นิมิตเห็นสิเป็นควาย
๕๒๘ มโนนึกสิตราแน่น        ผิเคยแล่นและลัดหมาย
สะทกตื่นสะอื้นภาย              สินองหน้าชลาริน
๕๒๙ กระหวัดนึกสิเห็นหน้า   บิดาพาเสาะทรัพย์สิน
สนุกอยู่สนิทกิน                  ผิผักหญ้าประสายาก
๕๓๐ คณานกสิโบยบิน         มิทิ้งถิ่นไถลจาก
ผิครานี้สิลำบาก                  ทว่าด้วยภวาดล
๕๓๑ สิทิ้งถิ่นและพากเพียร    ผิอ่านเขียนสิขาผล
อนาคตตะกาลยล                สิสบช่องวิชาการ
๕๓๒ ระงับอกสะทกตื่น         สิหยัดยืนมิหย่อนยาน
ณ วันหนึ่งพลาวาร               จะประโยชน์อุดมไป
๕๓๓ สถานเรียนสิแปลกถิ่น    สหายสิ้นสิหาใหม่
สนิทกันบ่ทันใด                   ผิว่าแปลกและแยกยัง
๕๓๔ มิรู้จะคุยใคร               และพูดไทยบ่ชัดฟัง
และเพื่อนล้ออบายบัง           สิว่าลาวละอายอา
๕๓๕ สะเทือนในฤทัยทก      และหัวอกกระอักบ้า
สติดับอุจาดพา                   สิกำปั้นทะยานยิง
๕๓๖ บ่รอช้าสิขอทาง          กระแทกหว่างจมูกอิง
ทะลักเลือดกะเดากลิ้ง          กะหมัดเดียวคณามือ
๕๓๗ สิห้องเรียนสนามรบ     มิทันขบและคิดคือ
ประมาทหน้ากระนั้นฤๅ         มิทันตรองสติตนฯ
(กาสรคำฉันท์)

สงครามเล็กๆ ในห้องเรียนวิชาวาดเขียนชั่วโมงนั้น ทำให้เด็กน้อยบ้านป่าถูกลงทัณฑ์หน้าเสาธงในเช้าวันรุ่งขึ้นด้วยการเฆี่ยนด้วยไม้เรียว ๓ ที
อีทิสังฉันท์ ๒๐
๕๓๘ เออกระไรนะเธออุปาทะคน
ประหนึ่งจะดังกะเถื่อนสิดล     สิไม่ปาน
๕๓๙ ชอบพลังสิแทนสติสถาณ
ประพฤติกรรมระยำสิดาล       ผิกำหนด
๕๔๐ ใยบ่ขอบสิควรพิจารณ์ขบถ
บ่ออมบ่อำบ่อวยบ่อด           บ่ทนทาน
๕๔๑ นิดและหน่อยสหายสะกิดพิจารณ์
เพราะรักผิกล้ายะเย้าสนาน     เสน่หา
๕๔๒ คงกมลสะดานสิเถื่อนนรา
บ่ห่อนสิเห็นประเด็นสิพา       พิโรธเป็น
๕๔๓ คงนิสัยนิยมดิรัจะเช่น
เพราะป่าและเขาถนัดสิเห็น    พนาหนา
๕๔๕ จึงกมลสิหนักและนิลสิพา
สติสิตรองตระหนักสิหา         ผิเหตุผล
๕๔๖ ถ่อยเพราะเกิดและชั่วสถิตสถล
คะนึงมิควรมิคิดสิคน            ขนาดหนา
๕๔๗ แล้วจะร่ำจะเรียนจะเขียนระอา
สิน้อยและนิดสติผญา           บ่ควรคน
๕๔๘ คำพิจารณ์ประมาณประณามกมล
สิก้มพินอบมิตอบพิจญ          ณ เสาธง
๕๔๙ ชลละธารสิเอ่อและอั่งประจง
ประจักษ์จะแจ้งจะท่วมทะลง   ผินัยน์ตา
๕๕๐ พร่าและมัวผิมองมิเห็นสถา-
ณการณ์ประกฎสลดระอา       อุราราน
๕๕๑ ให้คะนึงพนาและควายระอาน
จะทุกข์สิยากวิบากพิการ       กระไรฤๅ
๕๕๒ กูสิทุกข์เทวษทวีบ่คือ
ไฉนจะดังกะกาจะแทรกกะชื่อ  วิหกสูง
๕๕๓ กาจะดำจะต้อยจะต่ำผิยูง
บ่ห่อนสมัครสมานสิจูง          มิบังควร
๕๕๔ ท่ามวิพากษ์ประจานสิแถวขบวน
และไม้ระเรียวสิฟาดผิถ้วน      ณ เสาธงฯ

วิชชุมาลี (ลาว)
๕๕๕ ขวบเมื่อมวลเมฆเค้า    ฝนฮ่ำฮวยลง พุ้นเยอ
วาโยพัด        สนั่นนองสายน้ำ
สังมาฮ้ง        นัยนาเหลือหลั่ง
สังมา   ลุล่วงก้ำ        กูนี้หน่ายแหนง แท้แล้ว
๕๕๖            เสียงแส้ไม้     เขาฟาดบีขา
สังมา เจ็บจมแฮง     อยู่ในใจล้น
สังบ่    เอาไปฆ่า       ตกตายซ้ำตื่ม
ตีต่อยก้น       เจ็บแท้อยู่ใจ แม่เอย
๕๕๗            ผิดซั่นบ้อ       เกิดก่อเป็นลาว
ครันผิดไท      สิเกิดเกินพันชาติ
ขอแต่ บุญผลาส้าว    ดับตายฮ้อยเซ่น
ขอวาดไว้       ดาเค้าเผ่าพันธุ์ พ่อเอย
๕๕๘ ครั้นว่า เป็นคนแล้ว     สมดั่งมโนใน แด่ถ้อน
เป็นคนหัน      ค่าคนแพงตื้อ
เป็นคนได้       คือคนแพงค่า
บ่แม่น รอแต่มื้อ        ตายถิ้มเปล่าดาย
๕๕๙            เจ็บเทื่อนั้น     จดจื่อจนตาย
เป็นหลักหมาย บอกทางเทียวไว้
เป็นหลักต้าย   ติดดินตอกตื่ม
ลืมบ่ได้          ไลเลี้ยวบ่เป็น
๕๖๐             บทตอกย้ำ      จารใส่กบาลหัว
ให้ว่า   สูงสุดเห็น      ดั่งสามัญมื้อ
ตัวตนนั้น        สำคัญกว่าแนวอื่น
อย่าสุ หยับหย่องยื้อ ตีนซ้ำล่วงลอย เจ้าเอยฯ
          (กาสรคำฉันท์)

 ที่เล่ามานั่น คือบางริ้วรอยที่แฝงฝังอยู่ในชีวิตจิตวิญญาณ คล้ายแผลเป็นที่ไม่มีวันลบล้างและเลือนหายไปได้ จนได้ถ่ายทอดไว้ในชิ้นงานวรรณกรรม “กาสรคำฉันท์” ที่คัดมาให้ดูบางบท
 มาถึงวันนี้ ถ้านับอายุคนก็ถือว่าไม่น้อยแล้วล่ะ แต่ถ้าเทียบกับระยะเวลาประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติก็อาจแค่ระยะเวลาที่งูแลบลิ้นแผล็บหนึ่ง
 กระนั้นก็ใกล้ที่หมายปลายทางชีวิตเข้าไปเรื่อยๆ จึงสมควรยั้งยังที่มั่นแห่งตนซะที
 ผมหมายถึงการกำหนดภารกิจของตนในช่วงวัยสุดยอดแห่งชีวิต ว่าสมควรจะจำกัดไว้ที่เรื่องใดบ้าง?
 ผมตัดสินใจจะยังทำงานด้านวรรณศิลป์ต่อไป ควบคู่กับงานรณรงค์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนในการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสให้แก่ลูกหลานรุ่นที่ยังไม่ได้เกิด ให้มีสิทธิ์ที่จะดำรงชีพในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

สมคิด สิงสง
ซับแดง ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔