จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ที่มั่นที่หมายปลายทางชีวิต

ไม่นึกว่าวันนี้จะต้องหันกลับไปมองวัยวันที่ผ่านมา แต่เมื่อจะลุกจะนั่งทีเริ่มมีถ้อยคำโอดโอย เจ็บโน่นปวดนี่พอให้รำคาญ ไม่กระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไวเหมือนสมัยที่ยังหนุ่มแน่นแต่ก่อนกี้
"อนิจจา วัฏฏะสังขารา.." ช่างเป็นสัจธรรมเสียนี่กระไร
พูดใหม่ก็คือใหม่
หลังโรงเรียนเลิก สลัดชุดสีกากีคร่ำคร่าเข้าข้างฝาเรือน เปลี่ยนเป็นกางเกงผ้าฝ้ายหัวรูดย้อมหม้อนิลด่างดำ ได้ปั้นข้าวเหนียวเหน็บปลาแดกเครื่องแล้วเผ่นแผล็วลงเรือน มุ่งหน้าไปลัดต้อนฝูงควายมาเข้าคอก
ปิดเทอมใหญ่ปลายปีนั้น เป็นปีที่จบชั้น ป.๔ ยายบอกจะให้น้าขึ้นมารับไปเรียนต่อกรุงเทพฯ หัวใจเด็กน้อยบ้านป่าพองโตจนคับอก ค่ำคืนที่มืดมิดกลับนอนฝันเห็นเมืองล่างที่สว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้า
โอ.. มันเป็นภาพอดีตอันงดงามและเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน
เมืองล่างในจินตนาการคือบ้านเมืองที่สว่างไสวไปด้วยแสงสี เหมือนที่เคยเห็นบนเวทีหมอลำในยุคสมัยที่เริ่มมีเครื่องปั่นไฟ มีหลอดหมากตูมกาห้อยต่องแต่งบนเสาไม้ไผ่ และมีไมโครโฟนห่อด้วยผ้าใยบัวสีเขียวแดงหย่อนลงมาจากราวไม้ไผ่ เสียงหมอลำที่ดังผ่านลำโพงไฮไฟดอกมะเขือบ้า ซึ่งมัดติดปลายไม้ต้นมะม่วงกะสอหน้าศาลาการเปรียญ ชำแรกแทรกตัวไปในความเงียบสงัดของรัติกาลอันมืดดำ สะท้านสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วทิวป่าและนาข้าวเขียวขจี
"ได้ยิน ลมพานต้องใบไผ่ โวกวีโว
ลมพานต้องใบโพ โวกวีเวก
โจ้กเจ้กน้ำล้นต้อน ใจน้องฮ่ำคะนิงฯ"
บทกลอนลำล่องที่คุ้นหูแห่งยุคสมัยยังแว่วยินอยู่ในมโนสำนึกตราบถึงวันนี้ แม้นว่าวันเวลาเช่นนั้นจะล่วงผ่านมากว่ากึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
เมืองล่างในจินตนาการช่างเต็มไปด้วยความรื่นรมย์เสียนี่กระไร ช่างสวยงามตระการตาราวสวรรค์ชั้นฟ้า และเสนาะโสตในสำเนียงแซร่ซ้องเสพงันทั้งวันและคืน
ทว่า เมื่อได้ไปสัมผัสด้วยชีวิตจริงกลับแตกต่างไปจากที่เคยคิดฝันเอาไว้เป็นขาวกับดำ ชีวิตเด็กนักเรียนจากบ้านนอกขอกคาเมที่มีโอกาสไปร่วมชั้นเรียนกับเพื่อนใหม่ในเมืองหลวงกลับถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนจนเหลือจะทานทน

ภชงคปยาตฉันท์ ๑๒
๕๒๕ นิราศถิ่นนิคมเถื่อน       ลุปีเดือนนครใหญ่
สถิตที่สถานใด                    สินึกเห็นบ่เว้นวาย
๕๒๖ มิใยเพียรสิเขียนอ่าน     คะนึงบ้านผิเช้าบ่าย
นิทราหลับขยับกาย              นิมิตเห็นสิเป็นควาย
๕๒๘ มโนนึกสิตราแน่น        ผิเคยแล่นและลัดหมาย
สะทกตื่นสะอื้นภาย              สินองหน้าชลาริน
๕๒๙ กระหวัดนึกสิเห็นหน้า   บิดาพาเสาะทรัพย์สิน
สนุกอยู่สนิทกิน                  ผิผักหญ้าประสายาก
๕๓๐ คณานกสิโบยบิน         มิทิ้งถิ่นไถลจาก
ผิครานี้สิลำบาก                  ทว่าด้วยภวาดล
๕๓๑ สิทิ้งถิ่นและพากเพียร    ผิอ่านเขียนสิขาผล
อนาคตตะกาลยล                สิสบช่องวิชาการ
๕๓๒ ระงับอกสะทกตื่น         สิหยัดยืนมิหย่อนยาน
ณ วันหนึ่งพลาวาร               จะประโยชน์อุดมไป
๕๓๓ สถานเรียนสิแปลกถิ่น    สหายสิ้นสิหาใหม่
สนิทกันบ่ทันใด                   ผิว่าแปลกและแยกยัง
๕๓๔ มิรู้จะคุยใคร               และพูดไทยบ่ชัดฟัง
และเพื่อนล้ออบายบัง           สิว่าลาวละอายอา
๕๓๕ สะเทือนในฤทัยทก      และหัวอกกระอักบ้า
สติดับอุจาดพา                   สิกำปั้นทะยานยิง
๕๓๖ บ่รอช้าสิขอทาง          กระแทกหว่างจมูกอิง
ทะลักเลือดกะเดากลิ้ง          กะหมัดเดียวคณามือ
๕๓๗ สิห้องเรียนสนามรบ     มิทันขบและคิดคือ
ประมาทหน้ากระนั้นฤๅ         มิทันตรองสติตนฯ
(กาสรคำฉันท์)

สงครามเล็กๆ ในห้องเรียนวิชาวาดเขียนชั่วโมงนั้น ทำให้เด็กน้อยบ้านป่าถูกลงทัณฑ์หน้าเสาธงในเช้าวันรุ่งขึ้นด้วยการเฆี่ยนด้วยไม้เรียว ๓ ที
อีทิสังฉันท์ ๒๐
๕๓๘ เออกระไรนะเธออุปาทะคน
ประหนึ่งจะดังกะเถื่อนสิดล     สิไม่ปาน
๕๓๙ ชอบพลังสิแทนสติสถาณ
ประพฤติกรรมระยำสิดาล       ผิกำหนด
๕๔๐ ใยบ่ขอบสิควรพิจารณ์ขบถ
บ่ออมบ่อำบ่อวยบ่อด           บ่ทนทาน
๕๔๑ นิดและหน่อยสหายสะกิดพิจารณ์
เพราะรักผิกล้ายะเย้าสนาน     เสน่หา
๕๔๒ คงกมลสะดานสิเถื่อนนรา
บ่ห่อนสิเห็นประเด็นสิพา       พิโรธเป็น
๕๔๓ คงนิสัยนิยมดิรัจะเช่น
เพราะป่าและเขาถนัดสิเห็น    พนาหนา
๕๔๕ จึงกมลสิหนักและนิลสิพา
สติสิตรองตระหนักสิหา         ผิเหตุผล
๕๔๖ ถ่อยเพราะเกิดและชั่วสถิตสถล
คะนึงมิควรมิคิดสิคน            ขนาดหนา
๕๔๗ แล้วจะร่ำจะเรียนจะเขียนระอา
สิน้อยและนิดสติผญา           บ่ควรคน
๕๔๘ คำพิจารณ์ประมาณประณามกมล
สิก้มพินอบมิตอบพิจญ          ณ เสาธง
๕๔๙ ชลละธารสิเอ่อและอั่งประจง
ประจักษ์จะแจ้งจะท่วมทะลง   ผินัยน์ตา
๕๕๐ พร่าและมัวผิมองมิเห็นสถา-
ณการณ์ประกฎสลดระอา       อุราราน
๕๕๑ ให้คะนึงพนาและควายระอาน
จะทุกข์สิยากวิบากพิการ       กระไรฤๅ
๕๕๒ กูสิทุกข์เทวษทวีบ่คือ
ไฉนจะดังกะกาจะแทรกกะชื่อ  วิหกสูง
๕๕๓ กาจะดำจะต้อยจะต่ำผิยูง
บ่ห่อนสมัครสมานสิจูง          มิบังควร
๕๕๔ ท่ามวิพากษ์ประจานสิแถวขบวน
และไม้ระเรียวสิฟาดผิถ้วน      ณ เสาธงฯ

วิชชุมาลี (ลาว)
๕๕๕ ขวบเมื่อมวลเมฆเค้า    ฝนฮ่ำฮวยลง พุ้นเยอ
วาโยพัด        สนั่นนองสายน้ำ
สังมาฮ้ง        นัยนาเหลือหลั่ง
สังมา   ลุล่วงก้ำ        กูนี้หน่ายแหนง แท้แล้ว
๕๕๖            เสียงแส้ไม้     เขาฟาดบีขา
สังมา เจ็บจมแฮง     อยู่ในใจล้น
สังบ่    เอาไปฆ่า       ตกตายซ้ำตื่ม
ตีต่อยก้น       เจ็บแท้อยู่ใจ แม่เอย
๕๕๗            ผิดซั่นบ้อ       เกิดก่อเป็นลาว
ครันผิดไท      สิเกิดเกินพันชาติ
ขอแต่ บุญผลาส้าว    ดับตายฮ้อยเซ่น
ขอวาดไว้       ดาเค้าเผ่าพันธุ์ พ่อเอย
๕๕๘ ครั้นว่า เป็นคนแล้ว     สมดั่งมโนใน แด่ถ้อน
เป็นคนหัน      ค่าคนแพงตื้อ
เป็นคนได้       คือคนแพงค่า
บ่แม่น รอแต่มื้อ        ตายถิ้มเปล่าดาย
๕๕๙            เจ็บเทื่อนั้น     จดจื่อจนตาย
เป็นหลักหมาย บอกทางเทียวไว้
เป็นหลักต้าย   ติดดินตอกตื่ม
ลืมบ่ได้          ไลเลี้ยวบ่เป็น
๕๖๐             บทตอกย้ำ      จารใส่กบาลหัว
ให้ว่า   สูงสุดเห็น      ดั่งสามัญมื้อ
ตัวตนนั้น        สำคัญกว่าแนวอื่น
อย่าสุ หยับหย่องยื้อ ตีนซ้ำล่วงลอย เจ้าเอยฯ
          (กาสรคำฉันท์)

 ที่เล่ามานั่น คือบางริ้วรอยที่แฝงฝังอยู่ในชีวิตจิตวิญญาณ คล้ายแผลเป็นที่ไม่มีวันลบล้างและเลือนหายไปได้ จนได้ถ่ายทอดไว้ในชิ้นงานวรรณกรรม “กาสรคำฉันท์” ที่คัดมาให้ดูบางบท
 มาถึงวันนี้ ถ้านับอายุคนก็ถือว่าไม่น้อยแล้วล่ะ แต่ถ้าเทียบกับระยะเวลาประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติก็อาจแค่ระยะเวลาที่งูแลบลิ้นแผล็บหนึ่ง
 กระนั้นก็ใกล้ที่หมายปลายทางชีวิตเข้าไปเรื่อยๆ จึงสมควรยั้งยังที่มั่นแห่งตนซะที
 ผมหมายถึงการกำหนดภารกิจของตนในช่วงวัยสุดยอดแห่งชีวิต ว่าสมควรจะจำกัดไว้ที่เรื่องใดบ้าง?
 ผมตัดสินใจจะยังทำงานด้านวรรณศิลป์ต่อไป ควบคู่กับงานรณรงค์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนในการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสให้แก่ลูกหลานรุ่นที่ยังไม่ได้เกิด ให้มีสิทธิ์ที่จะดำรงชีพในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

สมคิด สิงสง
ซับแดง ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น