จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปลูกท้อ


๑ หลวงตาให้ “กล้าท้อ” สิบสองต้น
ปลูกลงบน “บ้านดิน-ตีนภู” มั่น
ปริศนา – ธรรมฤๅ เป็นสำคัญ
ให้ “ปลูกท้อ” ในวัน บวชต้นไม้
๒ ปลูกต้นท้อ เตือนว่า “อย่าท้อแท้”
ถ้าท้อแน่ อย่าถอย เป็นใช้ได้
“ท้อ” จักเตือนตัวตนลึกลงไป
ยังหัวใจจำหลักจักมั่นคง
๓ ปลูกต้นไม้ไว้ดินต้องรินน้ำ
รดให้ฉ่ำชุ่มพอเหมาะประสงค์
แม้นแดดอาบฉาบฉายประกายตรง
อย่าพะวงดอกใบต้นไม้เลย
๔ มีหน้าที่ปรุงแสงเป็นอาหาร
ดอกใบบานผลิผลออกเปิดเผย
แดด ดิน น้ำ สำคัญหมั่นชดเชย
ธรรมชาติช่วยเฉลยปัญหาธรรม
๕ สิบสองกล้าท้าธรรมชาติชัด
ถึงพิบัติเพียงหนึ่งในฉนำ
ที่เหี่ยวเฉาแห้งตายเป็นพลีกรรม
คืนสู่ดินตอกย้ำวิถีตน
๖ ยังเหลือท้อกว่าสิบยังยงกล้า
ยังยืนท้าธำรงคงแดดฝน
ไว้เตือนตัวคงค่าความเป็นคน
แม้นทุกข์จนอย่าระย่อท้อถอยเทียว
๗ ขอขอบคุณหลวงตาให้กล้าท้อ
เป็นทุนก่อเจริญสติจงชาญเชี่ยว
ที่แท้ท้อต้องบ่ถอยแม้ก้าวเดียว
จึงเก็บเกี่ยวผลหมากหากจงใจฯ
เขียนในวันรดน้ำต้นท้อหลังแดดเปรี้ยง
บ้านดินตีนภู ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บริหารจัดการน้ำ : คือการใช้ประโยชน์จากน้ำ


ไม่กี่วันมานี้ผมเอ่ยปากกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการตำบลสายนาวัง ว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แท้แล้วก็คือการหาวิธีใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างเพียงพอและยั่งยืนนั่นเอง
ผมไปถึงที่นั่นกับคุณนคร นาจรูญ ในฐานะคณะทำงาน CCAI[1] ในประเทศไทย ย่ำค่ำของคืนขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนสิบสองทางจันทรคติ เพื่อเยี่ยมเยียนคุณบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ พบปะกับคณะกรรมการน้ำตำบลชุดแรกและน่าจะเป็นแห่งแรกของตำบลในประเทศไทย เพื่อตระเตรียมการประชุมถอดถอนบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีโดยองค์กรลุ่มน้ำ ที่เรากำลังทำงานร่วมกับ IUCN[2]

บรรยากาศการสนทนาแบบไม่เป็นทางการแต่ลึกล้ำด้วยเนื้อหาสาระที่ไม่ต้องตระเตรียมและเรียบเรียงล่วงหน้า
ผมเอ่ยถ้อยคำข้างต้นในห้องประชุม อบต.สายนาวัง ในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อเราปรึกษาหารือกันค่อนข้างเป็นทางการ แต่ใจผมหวนคำนึงไปถึงกิจกรรมการส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเคมี ที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ที่มีนายไกรสร กองฉลาด เป็นนายอำเภอ (จะย้ายไปดำรงตำแหน่ง นภอ.กระนวน แทนนายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ในเร็ววันนี้)
ทำไมหรือครับ?
เพราะที่อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เขามีกิจกรรมส่งเสริมปลูกผักปลอดสารเคมี ส่งขายในตลาดเมืองขอนแก่น เช่นซุบเปอร์มาร์เก็ตในห้างเซ็นทรัล คอมเพล็กซ์เซ็นเตอร์ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น
ผมถือว่านี่คือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจริง คือรู้จักใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในวิถีการดำรงชีวิต ร่วมกับทรัพยากรอื่นๆ อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน
ชาญฉลาดคือ ฉลาดใช้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์น้ำมาก น้ำน้อย หรือน้ำเน่าเสีย ล้วนมีปัญญาที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำเหล่านั้น ในสถานการณ์นั้นๆ
ยั่งยืน คือใช้ได้อย่างยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในระบบลุ่มน้ำ โดยเฉพาะคือทรัพยากรคนและสิ่งแวดล้อม
เรามีทรัพยากรดิน น้ำ คน ฯลฯ ในเชิงพื้นที่หนึ่งๆ ทำอย่างไรจะทำให้ทรัพยากรเหล่านี้เกื้อกูลกันได้อย่างยั่งยืน นี่น่าจะเป็นโจทย์สำหรับนักปกครอง และนักบริหารจัดการรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนายอำเภออย่างนายไกรสร กองฉลาด หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล อย่างนายบำรุง คะโยธา
รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยิ่งต้องมีความสามารถเชิงนี้ด้วย





[1] คณะทำงานกิจกรรมความริเริ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวในลุ่มน้ำโขง ภายใต้ Climate Change  and Adaptation Initiative: CCAI
[2] IUCN, International Union for Conservation of Nature and Natural Resources

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อย่าหูหนาปัญญาหนวก




๑ หูหนาปัญญาหนวกบวกตาบอด
จึงวายวอดเป็นว่าเล่นเห็นไหมนั่น
เอาอีกแล้ว ล้าน-ล้าน สราญครัน
อะไรกันจะจัญไรได้ปานนี้?
๒ ที่ละลายหายวับไปกับน้ำ
คงระยำช้ำชอกอีกป่นปี้
อ้างฟื้นฟูบูรณะกะคืนดี
แท้กู้หนี้อีกอ่วมจนท่วมตัว
ขอบคุณภาพ : นาย ช่างภาพ (เฟสบุ๊ค)


๓ กู้อะไรฤๅจักสู้ต้องกู้หน้า
ละเลงบ้าละลายบาปสาบส่งชั่ว
โยนให้แพะรับไปไม่พันพัว
พ้นเกลือกกลั้วกู้ชื่อระบือทราม
๔ อนิจจาประชาชาติอนาถนัก
ฤๅจมปรักติดหล่มบ่เลยข้าม
ทนเทวษร่ำไปทุกผู้นาม
สุดโยงยามยืดเยื้อและยาวนาน
๕ วอนเทวาอารักษ์จงดลช่วย
ขอไทยทวยแจ้งประจักษ์จงทุกย่าน
รู้จำแนกชั่วดีดังเชี่ยวชาญ
ถูกหรือผิดสามานย์ฤๅสามัญ
๖ อย่าหูหนาปัญญาหนวกบวกตาบอด
จึงจะรอดแคล้วคลาดที่หวาดหวั่น
จึงจะพ้นผองภัยที่ฝ่าฟัน
จึ่งมีวันเงยหน้าอ้าปากบาน
๗ จึงกอบกู้บูรณะและสะสาง
จึงถูกทิศถูกทางที่เทียวผ่าน
จึงรู้ทันรู้เท่าพวกสามานย์
จึงรู้การจำเริญก้าวไปไกลเอยฯ

ซับแดง ๑๑ – ๑๑ – ๑๑